คำแนะนำในการเลือกฟิล์มกรองแสงให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด

โดยจะพิจารณาจาก
1.คุณภาพ
ฟิล์มกรองแสงที่มีคุณภาพดีนั้น คุณสมบัติต่างๆ ของฟิล์มเช่น % การลดความร้อน,% การลดรังสี UV, % การสะท้อนแสงและ % แสงส่องผ่าน ต้องเป็นค่ามาตรฐานจากโรงงานผู้ผลิตที่เชื่อถือได้ และควรเป็นไปตามมาตรฐานของ AIMCAL (ASSOCIATION OF INDUSTRIAL METALLIZERS COATERS AND LAMINATORS), ASTM (AMERICAN SOCIETY FOR TESTING AND MATERIALS) และ ASHRAE มิใช่ค่าที่พิมพ์หรือโฆษณาโดยปราศจากหลักฐานอ้างอิง
2.มาตรฐานโรงงานผู้ผลิต
ต้องพิจารณาว่าเป็นฟิล์มกรองแสงที่มีแหล่งที่มาชัดเจน นำเข้ามาจากโรงงานที่ผ่านมาตรฐานที่สากล
ยอมรับ และมีที่ตั้งชัดเจน โดยปัจจุบันมีฟิล์มกรองแสงที่ผลิตจากโรงงานในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ได้รับมาตรฐาน ISO 9001 ซึ่งเป็นระบบควบคุมคุณภาพที่กำกับดูแลทั้งการออกแบบและการพัฒนา, การผลิต, การติดตั้งและการบริการ โดยโรงงานผู้ผลิตจะมอบสำเนาใบประกาศนียบัตร ที่ได้รับรองมาตรฐาน ISO 9001 ให้บริษัทตัวแทนในประเทศไทยที่นำเข้าและจัดจำหน่ายด้วย ผู้บริโภคสามารถเรียกตรวจสอบได้
3.ผู้จัดจำหน่ายในประเทศไทย
ต้องเป็นบริษัทที่มีความตั้งใจ จริงใจ และประสบการณ์ในการทำธุรกิจฟิล์มกรองแสงอย่างต่อเนื่อง
ยาวนาน เชื่อถือได้ และไม่มีการโฆษณาหลอกหลวง หรือเปลี่ยนยี่ห้อไปเรี่อยๆ มีมาตรฐานการรับประกันคุณภาพที่เชื่อถือได้ โดยทั่วไปการรับประกันคุณภาพจะไม่ต่ำกว่า 7 ปี และสิ้นสุดเมื่อมีการเปลี่ยนชื่อเจ้าของรถ ดังนั้นผู้บริโภคจึงต้องเลือกบริษัทตัวแทนจำหน่ายที่ท่านมั่นใจว่าตลอดระยะเวลารับประกัน บริษัทฯจะยังคงดำเนินธุรกิจฟิล์มกรองแสงอยู่และพร้อมที่จะรับผิดชอบหากฟิล์มที่ติดตั้งไปเกิดปัญหาใดๆ ขึ้น ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ควรเป็นผู้จัดจำหน่ายที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นทางการจากโรงงานผู้ผลิตให้เป็นตัวแทนในประเทศไทย โดยตรวจสอบได้จากหนังสือแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายฯ
4.ราคา
ราคาต้องสมเหตุสมผล เหมาะสมกับคุณภาพในระดับที่ยอมรับได้ โดยฟิล์มเคลือบโลหะทั้งชนิด Sputtered และ Thermal จะมีราคาสูงกว่าฟิล์มเคลือบสีประมาณ 1-2 เท่าตัว
5.โฆษณา
ผู้บริโภคควรพิจารณาโฆษณาของฟิล์มกรองแสงต่างๆ ให้ดีก่อนเลือกติดตั้งต้องเป็นโฆษณาที่ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่มีการโฆษณาชวนเชื่อเกินจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง % การลดความร้อนและคุณสมบัติต่างๆ ของฟิล์มกรองแสง ซึ่ง % การลดความร้อนที่ถูกต้องนั้นต้องเป็น % การลดความร้อนจากแสงแดดนอกจากนี้ยังควรพิจารณาถึงวิธีการทดสอบคุณภาพของฟิล์มกรองแสงด้วยว่าเชื่อถือได้หรือไม่ เช่น ไม่ควรทดสอบฟิล์มด้วยแสงสปอตไลท์หรือหลอดรังสีอินฟาเรด ไม่ว่าจะโดยการให้ผู้บริโภคใช้มืออัง หรือยืนท่ามกลางแสงไฟ ทั้งนี้เพราะเวลาที่ขับรถจริงๆ นั้น เราขับรถภายใต้แสงแดด มิใช่แสงสปอตไลท์หรืออินฟราเรดแต่เพียงชนิดเดียว ซึ่งแหล่งกำเนิดแสงทั้งสามชนิดนี้แตกต่างกันไปโดยสิ้นเชิง และบางครั้งยังมีกรณีที่ว่าฟิล์มที่นำมาติดตั้งนั้นเป็นคนละชนิดกัน หรือใช้ฟิล์มติดตั้งซ้อนทับกันสองชั้นในการทดสอบ จุดนี้ผู้บริโภคต้องพึงระมัดระวังและพิจารณาให้รอบคอบ